วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วิธีการทำการ์ดอวยพรปีใหม่
โดย  รณชัย  นาทองบ่อ

                     อุปการณ์
                                                   1. กระดาษร้อยปอนด์
                                                   2. กรรไกร
                                                   3. กาวสองหน้า
                                                   4. ริบบิ้น
                                                   5. กากเพชร
                                                   6. ปากกาสีต่างๆ
                                                   7. สีไม้
                                                    8. กระกาษลูกไม้สำหรับตกแต่งปกการ์ด

      วิธีการทำ
     1. เริ่มจากใช้กรรไกรตัดกระดาษร้อยปอนขนาดเท่า A 4  จำนวน 2 แผ่น แล้วออกแบบด้านในการ์ดโดยวาดเป็นรูปต้นสน แล้วใช้คัตเตอร์กรีดเป็นริ้วๆ ตามใบต้นสนแล้วพับครึ่ง ระบายสีตบแต่งให้สวยงาม  เสร็จแล้วจึงเขียนคำอวยพรลงไปดังรูปข้างล่าง



    2. เมื่อทำส่วนด้านในเสร็จแล้วจึงนำกระดาษร้อยปอนอีกหนึ่งแผ่นมาประกบด้านหลังการ์ดของเรา โดยใช้กาวสองหน้าติด แล้วใช้สีเขียวระบายส่วนที่เป็นใบไม้ (แผ่นที่นำมาประกบด้านหลัง)



      3. จากนั้นจึงมาทำปกการ์ดโดยใช้กระดาษสีส้มเป็นพื้นหลัง นำกระดาษลูกไม้มาประดับหน้าปก ติดรูปการ์ตูน เขียนข้อความให้เรียบร้อย เก็บรายละเอียดประดับด้วยกากเพชร

    4. เมื่อนำส่วนของปกและด้านที่เป็นคำอวยพรมาประกบกันด้วยกาวสองหน้า แล้วนำริบบิ้นสีแดงมาติดไว้ที่ปกหน้าและปกหลัง สำหรับใช้ผูกเป็นรูปโบว์

เพื่อนๆสามารถนำเทคนิคต่างๆเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้ อาจจะตบแต่งการ์ดให้สวยงามตามแต่ความชอบส่วนบุคคลได้ และที่สำคัญการ์ดที่เราลงมือทำด้วยตนเองสุขใจทั้งผู้ให้และทำให้ผู้รับมีความสุข นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาและความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556



                           หญิงงาม


                            งามอรุณงามประไพทั่วในหล้า       งามจรรยางามจริตพิสมัย
                        งามเผ้าผมผิวพรรณละมุนละไม         งามน้ำใจในสตรีมีราคา
                            งามดวงตาดุจทรายนัยน์คมเข้ม     งามอิ่มเอมเปล่งปลั่งดั่งพฤกษา
                        งามดุจแก้วมณีแสงแห่งพารา             งามดวงหน้างามดวงใจในนิรันดร์


                                                                                                                    สุริยน  รณชัย


กาพย์ยานี ๑๑


ประพันธ์ด้วย แม่ ก กา และแม่สะกดทั้ง ๘ แม่สะกด
จากพรรณไม้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

                                             จำร่ำชื่อหมู่ไม้                         ทั้งน้อยใหญ่ในสถาน
                                           ทองกวาวงามตระการ                ดุจการงานที่ก้าวไกล
                                             งามตาหางนกยูง                      คุณธรรมสูงนำจิตใจ
                                           ประดู่ต้นสูงใหญ่                         จงเร่งใฝ่เรียนวิชา
                                              ต้นคูนดอกสีเหลือง                  จะรุ่งเรืองต้องศึกษา
                                            ปีบจำปีงามตา                           มีจรรยาชั่วตาปี
                                              หูกวางแผ่กิ่งก้าน                      สูงตระหง่านในศักดิ์ศรี
                                             แผ่ขยายความดี                        บุพการีล้ำโลกา
                                               ดอกเข็มแดงสวยสด                ดูงามงดพรรณพฤกษา
                                             หลักแหลมดุจปัญญา                  มีคุณค่าพาก้าวไกล

                                                                                                         สรุยน รณชัย

                         สอนแม่สะกด
                                      แม่ ก กา      ปี
                                      แม่ กก         นก
                                      แม่ กด         สด
                                      แม่ กบ         ปีบ
                                      แม่ กง          สูง
                                      แม่ กน          ก้าน
                                      แม่ กม          แหลม
                                      แม่ เกย         สวย
                                      แม่ เกอว       กาว 

"แผนผังคำประพันธ์ประเภทต่างๆ"


กลอน ๘



กลอนดอกสร้อย




กาพย์ยานี ๑๑



กาพย์ฉบัง ๑๖




กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘



 โคลงสี่สุภาพ



อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑



 กาพย์เห่เรือ  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย

พระนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ 
ลักษณะคำประพันธ์  
      ๑. ร้อยกรอง ประเภทกาพย์เห่เรือ จบด้วย กาพย์ห่อโคลง ( บางตำราใช้กาพย์ห่อโคลงเห่เรือ )
      ๒. กาพย์เห่เรือ ๑ บท   ประกอบด้วย โคลงสี่สุภาพนำ ๑ บท แล้วกาพย์ยานี ๑๑ ไม่จำกัด จำนวนบท โดยให้กาพย์ยานี ๑๑ บทแรก มีเนื้อความเดียวกันกับโคลงสี่สุภาพที่นำกาพย์



                                              นาวาแน่นเป็นขนัด          ล้วนรูปสัตว์แสนยากร
                                       เรือริ้วทิวธงสลอน                   สาครลั่นครั่นครื้นฟอง
                                              เรือครุฑยุดนาคหิ้ว           ลิ่วลอยมาพาผันผยอง
                                       พลพายกรายพายทอง              ร้องโห่เห่โอ้เห่มา
                                                สรมุขมุขสี่ด้าน             เพียงพิมานผ่านเมฆา
                                       ม่านกรองทองรจนา                หลังคาแดงแย่งมังกร
                                                สมรรถชัยไกรกาบแก้ว    แสงแวววับจับสาคร
                                       เรียบเรียงเคียงคู่จร                 ดั่งร่อนฟ้ามาแดนดิน
                                                สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย     งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
                                       เพียงหงส์ทรงพรมมินทร์            ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม
                                                เรือชัยไวว่องวิ่ง            รวดเร็วจริงยิ่งอย่างลม
                                       เสียงเส้าเร้าระดม                    ห่มท้ายเยิ่นเดินคู่กัน
                          
                                    มูลเห่
                                                คชสีห์ทีผาดเผ่น           ดูดังเป็นเห็นขบขัน
                                       ราชสีห์ที่ยืนยัน                     คั่นสองคู่ดูยิ่งยง
                                                เรือม้าหน้ามุ่งน้ำ            แล่นเฉื่อยฉ่ำลำระหง
                                      เพียงม้าอาชาทรง                    องค์พระพายผายผันผยอง
                                                 เรือสิงห์วิ่งเผ่นโผน        โจนตามคลื่นฝืนฝ่าฟอง
                                      ดูยิ่งสิงห์ลำพอง                      เป็นแถวท่องล่องตามกัน
                                                  นาคาหน้าดังเป็น          ดูเขม้นเห็นขบขัน
                                      มังกรถอนพายพัน                     ทันแข่งหน้าวาสุกรี
                                                  เลียงผาง่าเท้าโผน        เพียงโจนไปในวารี
                                      นาวาหน้าอินทรี                        มีปีกเหมือนเลื่อนลอยโพยม
                                                  ดนตรีมี่อึงอล               ก้องกาหลพลแห่โหม
                                       โห่ฮึกครึกครื้นโครม                  โสมนัสชื่นรื่นเริงพล
                                                  กรีธาหมู่นาเวศ              จากนคเรศโดยสาชล
                                       เหิมหื่นชื่นกระมล                      ยลมัจฉาสารพันมี




เพลงฝึกผันเสียงอักษรกลาง


ฝึกผันอักษรกลางให้โก้
ด้วยไม้เอก ไม้โท ไม้ตรี ไม้จัตวา
ผันแล้วออกเสียงต่างกันจริงหนา เช่นคำว่ากาอ่านเป็นเสียงสามัญ
ก -า    กา  ผันไม้เอกเป็น  ก่า 
ผันไม้โทเป็น  ก้า  หนูจ๋าจงจำ
ผันไม้ตรีอ่านเป็นเสียง  ก๊า
ผันไม้จัตวาเสียง  ก๋า จงจำ
คำเดียวแท้  เดียวแท้  ผันได้เสียงแตกต่าง
ยามเวลาว่างๆให้ผันเล่นแหน่เด้อ
อย่าได้เซ่อ ได้เซ่อ ผันแหน่อักษรกลาง
ผันให้เป็นแนวทาง หากเทื่อผันบ่ทันคล่อง
************

**ในการจัดหมวดหมู่ไตรยางศ์ อักษรกลาง หมายถึง พยัญชนะกลุ่มหนึ่งที่มีรูปปกติเป็นเสียงกลางทั้งหมด ซึ่งเป็นการพิจารณาเฉพาะรูปพยัญชนะเท่านั้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผันเสียงวรรณยุกต์ไปในแบบเดียวกัน อักษรกลางมีทั้งหมด 9 ตัว ได้แก่ , และ 


นิทานสระ อาจารย์ยุวดี นุชทรัพย์ 

นวัตกรรมการสอนเรื่องสระเพื่อเพิ่มพูนทักษะในวิชาภาษาไทย ชุดนิทานสระ


http://www.youtube.com/watch?v=J0rj4K6nk00

นิทานเรื่องเต่ากับกระต่าย  
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การหลงทนงตนและประมาทคิดว่าตนเก่งนั้น
อาจทำให้เราพลั้งพลาดได้
http://www.youtube.com/watch?v=0WmkGl3ny3Q

อัตลักษณ์ถิ่นอีสาน ในนวนิยายลูกอีสาน
รณชัย     นาทองบ่อ


บทคัดย่อ
   บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิจารณ์นวนิยายลูกอีสาน รางวัลซีไรต์ พุทธศักราช 2522 ของนักเขียนสายเลือดอีสานขนานแท้ คำพูน  บุญทวี ซึ่งผู้วิจารณ์ได้นำเสนออัตลักษณ์ถิ่นที่โดดเด่นของคนอีสานซึ่งปรากฏอยู่ในลูกอีสาน เพื่อนำเสนออัตลักษณ์ที่มีคุณค่าของคนอีสานอันเป็นการถ่ายทอดวิถีชีวิตและความเชื่อต่างๆที่ถือว่าเป็นอัตลักษณ์ถิ่นอีสานขนานแท้ที่ไม่มีใครเหมือน ผ่านน้ำหมึกและปลายปากกาถ่ายทอดออกมาในประเด็นต่างๆ คือ  1. สังคมและวัฒนธรรม  2. ความเชื่อที่ฝั่งลึกในจิตวิญญาณ  3. ผญาอีสานสานรักหนุ่มสาว  4. อาหารการกินถิ่นอีสานบ้านเฮา 5. เครื่องมือเครื่องใช้หรือประดิษฐกรรมพื้นบ้านถิ่นอีสาน  6. คนอีสานอยู่ที่ไหนก็ไม่อดตาย
   ผลการศึกษาในอัตลักษณ์ถิ่นในอีสาน ในด้านสังคมและวัฒนธรรมพบว่าคนอีสานมีสังคมที่แน่นแฟ้น ช่วยเหลือกันทุกเรื่องไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่ ตลอดจนมีประเพณีที่ดีงามนั่นก็คือ ประเพณีสงกรานต์ ด้านความเชื่อที่ฝังลึกในจิตวิญญาณเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน เพราะคนอีสานมีความเชื่อเรื่องผีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผีที่มีเฉพาะถิ่นอีสานนั่นก็คือผีปอบ ด้านผญาอีสานสานรักหนุ่มสาว ก็มีความโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ที่ชัดเจนเป็นสื่อกลางสานสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวชาวอีสาน ซึ่งมักจะพูดผญาเกี้ยวกัน จีบกัน ด้านอาหารการกินถิ่นอีสานบ้านเฮานั้นก็โดดเด่นมาก ซึ่งแสดงว่านี่แหละอีสานขนานแท้ก็มี ข้าวเหนียว ลาบปลาร้า หม่ำไข่ปลา โดยเฉพาะคนอีสานกับปลาร้าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้ ในลูกอีสานแทบทุกตอนในการกินอาหารทุกมื้อต้องมีปลาร้าเป็นอาหารหลักเสมอ ด้านเครื่องมือเครื่องใช้หรือประดิษฐกรรมพื้นบ้านถิ่นอีสานนั้นก็เด่นมากในเรื่องการทำเครื่องมือดักนกขุ้มที่ได้วัสดุอุปกรณ์จากธรรมชาติ การทำหน้าไม้ และการตีเสียม การทำเหล็กป๊ก ประเด็นสุดท้ายก็คือ คนอีสานอยู่ที่ไหนก็ไม่อดตาย อันนี้จะเห็นได้ชัดเจนมาก เพราะความแห้งแล้งอดยากคนอีสานก็อยู่ได้เพราะกินทุกอย่างที่สามารถกินได้ไม่ว่าจะเป็น งู บึ้ง ตุ๊กแก ก็ปรุงเป็นเมนูเลิศรสได้
สังคมและวัฒนธรรม
   อีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเนื้อที่ประมาณ 168,854 ตารางกิโลเมตร เท่ากับร้อยละ 32.91 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของเนื้อที่ประเทศไทย
   ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นแอ่งที่ราบขนาดใหญ่ มีทิวเขากั้นเป็นขอบอยู่ทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ แล้วตะแคงลาดไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำโขง มักเรียกชื่อภูมิประเทศของภาคนี้อย่างรวมๆว่าที่ราบสูงโคราช (สุจิตต์  วงษ์เทศ, 2543: 3)
   จากที่กล่าวมาเบื้องต้นจะเห็นว่าอีสานมีพื้นที่ขนาดใหญ่ และมีอาณาเขตกว้างขวาง ดังนั้นสังคมและวัฒนธรรมของชาวอีสานก็มีคุณค่ามากมายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเนื้อที่ที่ปรากฏทางภูมิประเทศ ชาวอีสานมีลักษณะทางสังคมที่เป็นอัตลักษณ์ถิ่นก็คือมีลักษณะที่พึ่งพาอาศัยกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันดังที่ปรากฏในตอนที่ว่า
 แล้ววันสนุกของคูนก็มาถึง วันนี้ตรงกับวันเสาร์ เมื่อมีเสียงทิดจุ่นกับเอื้อยคำกอง มาเรียกแม่ให้เปิด 
   ประตู คูนก็ลุกผลุงขึ้นจากที่นอน ลุกขึ้นบักคูน ช่วยกันขนของกองไว้แห่งเดียวกัน แล้วเอาสาดปกไว้ ให้มิด อย่าให้ขี้ฝุ่นหล่นลงใส่ทิดจุ่นว่าดังๆไม่นานนักข้าวของต่างๆกับเสื้อนอนหมอนหนุนก็ถูกขนมากองไว้รวมกัน เสร็จแล้วคูนก็ช่วยแม่และเอื้อยคำกองขนของที่จะทำกินลงไปวางใกล้ๆเล้าข้าวอย่างว่องไว พ่อกับทิดจุ่นพากันขึ้นไปรื้อตับหญ้าคาโยนลงมาอยู่โครมครามส่วนแม่กับเอื้อยคำกองพากันตำข้าวสารทำแป้งขนมอยู่ฉึกๆโดยเอื้อยคำกองเป็นคนเหยียบที่หางครกกระเดื่อง ส่วนแม่ยืนโก้งโค้งอยู่ที่ปากครก คูนเดินเข้าไปดูใกล้ๆก็เห็นแม่ จับก้อนแป้งพลิกไปมาให้สากตำที่ทิ้งลงเสียงฉัวะๆ สักครู่ทิดฮาดขี้เมาก็เดินนำหน้าลุงเข้มกับลุงเมฆตรงมา ถามคูนว่ามีอะไรจะให้กินในวันนี้ คูนก็บอกแม่ว่าจะลาบปลาแดกกับแกงปลากระป๋องให้กิน (คำพูน  บุญทวี, 2556: 123)
   จากที่ยกมาแล้วข้างต้นชี้ให้เห็นว่าคนอีสานถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน จากตอนนี้เป็นตอนที่พ่อของคูนจะเปลี่ยนหลังคาบ้าน พอคนในหมู่บ้านรู้ข่าวก็มาช่วยกัน พ่อคูนกับทิดจุ่นขึ้นไปรื้อตับหลังคา แม่คูนกับเอื้อยคำกองก็ช่วยกันตำข้าวสารทำขนมเลี้ยงชาวบ้านที่มาช่วยงาน และมีทิดฮาดลุงเข้มและลุงเมฆตามมาสมทบอีก ซึ่งการช่วยเหลือและมีน้ำใจต่อกันของคนอีสานถือว่าเป็นอัตลักษณ์ถิ่นชี้ให้เห็นความเป็นอีสานขนานแท้
สังคมอีสานเป็นสังคมที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ดังตอนที่มียายคนหนึ่งเอายอดผักมาแลกกับปลาส้มกับแม่คูนแม่รับมัด    ยอดผักจากยายส่งให้คูนถือแล้วล้วงปลาส้มขาวขึ้นมาห่อให้แกถึงสี่ตัว ยายก็พึมพำว่าขอให้เจ้ากับลูกๆอยู่เย็นเป็นสุขเถอะ แม่คูนก็พูดว่า เอ้อ ขอให้สมปากเว้าเถอะแม่ใหญ่เอ๊ย (คำพูน  บุญทวี, 2556: 286)
   จากที่ยกมาข้างต้นเป็นตอนที่ขบวนเกวียนของคูนกับพรรคพวกกำลังเดินทางกลับหลังจากไปหาปลาที่แม่น้ำชี เมื่อเดินทางผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่งก็ป่าวประกาศให้ชาวบ้านเอาของต่างๆมาแลกปลา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสิ่งของบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อขายเท่านั้น   ชี้ให้เห็นความมีน้ำใจแบ่งปันแลกเปลี่ยนสิ่งของกันของชาวบ้าน คนนี้มีข้าวก็เอามาแลกปลา ดังเช่นยายคนนั้นมียอดตำนินหรือผักตำลึงก็เอามาแลกปลาส้ม และคนอีสานมักจะให้พรแก่กันดังที่ยายคนนั้นให้พรแก่แม่คูนให้อยู่เย็นเป็นสุข
   เอกวิทย์  ณ ถลาง (2544: 67-71) กล่าวว่า เดือนห้า (เมษายน) พิธีสงกรานต์ชาวบ้านจะสรงน้ำพระพระพุทธรูปและไปกราบไหว้ระลึกคุณพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยทำพิธีบายศรีผู้ใหญ่และอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ
   จากมาแล้วว่าวัฒนธรรมประเพณีของคนอีสานนั้นมีความสำคัญ เป็นที่ยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างช้านาน ช่วยจรรโลงและหล่อหลอมให้คนเป็นคนดี ดังที่ในลูกอีสานมีตอนบุญสงกรานต์ที่ว่า
    ที่ลานวัดตอนเย็นเด็กๆกำลังวิ่งเล่นอยู่หลายคน ที่ร้านพระพุทธรูปใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ใบโกร๋น มีหญิงสาวและไม่สาวรดน้ำพระพุทธรูปอยู่ เด็กหลายคนพากันลอดเข้าไปอาบน้ำที่ไหลลงข้างล่าง คูนไม่ได้อาบน้ำมาทั้งวัน จึงคลานเข้าไปอาบน้ำกับเพื่อนๆ จนเสื้อผ้าเปียกหมด น้ำที่ไหลตามใบหน้ามีกลิ่นขมิ้นหอมอ่อนๆ เมื่อน้ำไหลเข้าปากคูนก็กลืนอึกลงไปหลายที เมื่อแม่บอกว่าเอื้อยคำกองกำลังมาคูนจึงลอดออกไป วันนี้เอื้อยคำกองสวยกว่าทุกวัน ผ้าขาวม้าที่คาดรอบหน้าอกก็เป็นผืนใหม่ บนต้นคอและเหนือราวนมก็มีสีขมิ้น   เหลืองๆทาอยู่ทั่ว (คำพูน  บุญทวี, 2556: 61)
   จากที่ยกมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าชาวอีสานจะออกมาทำบุญสรงน้ำพระกันที่วัด และผู้คนมักจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ๆ เพื่อเปิดรับสิ่งดีๆในวันสงกรานต์ ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนอีสานเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้
ความเชื่อที่ฝังลึกในจิตวิญญาณ
   ธวัช  ปุณโณฑก (2534: 95) อธิบายเกี่ยวกับความเชื่อว่า ความเชื่อคือการยอมรับอันเกิดในจิตสำนึกของมนุษย์ต่อพลังอำนาจเหนือธรรมชาติที่เป็นผลดีหรือผลร้ายต่อมนุษย์ หรือสังคมนั้นๆ แม้ว่าพลังอำนาจเหนือธรรมชาติเหล่านั้นไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงแต่มนุษย์ในสังคมหนึ่งยอมรับและให้ความเคารพเกรงกลัว
   จากการให้ความหมายของความเชื่อจึงจับประเด็นหลักได้ว่า ความเชื่อนั้นแม้ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง แต่มนุษย์เราก็ยอมรับและเคาระเกรงกลัว เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าคนเรานั้นกลัวสิ่งเร้นลับ โดยเฉพาะเรื่อง ผีแม้ว่าหลักการทางวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผีมีจริง แต่คนไทยโดยเฉพาะคนอีสานส่วนมากจะเชื่อเรื่องผี ดังตอนหนึ่งในลูกอีสานที่ว่า
วันหนึ่งผีปอบเข้ากินตับปู่บนเรือนในบ้านคุ้มบ้านใต้ คูนขึ้นไปแอบดูใกล้ๆ อยากดูก็อยากดูกลัวก็กลัว มีคนหนึ่งถือแส้ตีปู่ที่นอนร้องอยู่ขวับๆ แล้วเอาน้ำลงรดตามตัวปู่เสียงซู่ มีเสียงคนถือแส้ตีปู่ว่า มึงบ่กินน้ำมนต์ก็อาบเสียมึงเป็นผีปอบตัวไหนชื่ออะไรบอกมาไวๆ  คูนเห็นปู่ลุกพรวดขึ้นนั่ง แล้วคูนวิ่งลงไปยืนฟังอยู่ใต้ถุน มีเสียงปู่พูดขึ้นดังๆว่า บ่แม่นผีปอบมากินตับกู กูเป็นไข้ป่าเพราะกูเดินไปโคราชพอแล้วอย่าอาบน้ำให้กูไม่นานนักคูนก็ร้องไห้ขึ้นโห่งๆ เพราะคูนได้ยินเสียงคนข้างบนร้องไห้ (คำพูน บุญทวี, 2556: 14)
   จากตอนหนึ่งในลูกอีสานแสดงให้เห็นว่าคนอีสานมีความเชื่อเรื่องผีเป็นอย่างมาก โดยที่ไม่รู้ว่าผีมีจริงหรือไม่ แต่ก็เชื่อและเกรงกลัวไว้ก่อน เมื่อมีความเชื่อก็มีการแสวงหาหนทางป้องกันหรือขับไล่ผีนั่นก็คือหมอธรรม ซึ่งเป็นคนที่มีหน้าที่ทำพิธีการขับไล่ปอบตามความเชื่อเดิมของคนอีสาน โดยหมอธรรมจะท่องคาถาและใช้แส้ตี ตลอดจนให้คนที่โดนปอบเข้าสิงดื่มและอาบน้ำมนต์ แสดงให้เห็นว่าคนอีสานในสมัยก่อนยังขาดความรู้ด้านการรักษาอาการป่วยไข้ เมื่อเห็นคนป่วยไข้หนาวสั่นก็เหมารวมคิดว่าปอบเข้า จึงเทน้ำมนอาบผู้ป่วย ซึ่งในเรื่องนี้ปู่ของคูนบอกว่าเป็นไข้ป่าจึงหนาวสั่น เมื่อเจอน้ำมนต์จึงทำให้อาการกำเริบและเสียชีวิตลง
   การสักลายก็เป็นอีกหนึ่งความเชื่อของคนอีสานในสมัยก่อน ซึ่งคนอีสานสมัยก่อนมักจะสักลายตามตัวเพื่อป้องกันอันตรายจากศาสตราวุธตลอดจนเป็นการดึงดูดความสนใจจากสาวๆ ซึ่งในสมัยก่อนผู้ที่นำความเชื่อเรื่องสักลายเข้ามามักจะเป็นชาวกุลา
 หลวงพ่อเคนอธิบายต่ออีกว่าการสักลายมีมาแต่แกยังไม่เกิดผู้เฒ่าผู้แก่และสาวๆก็นิยมผู้ชายที่สักลายตลอดมา จนมีคำพูดของผู้สาวมาจนทุกวันนี้บทหนึ่ง เมื่ออ้ายขุนถามว่าเขาว่าอย่างไรหลวงพ่อจึงพูดขึ้นช้าๆว่า
ขาลายก้อมมอมตัวเดียวสิเตะส่ง
ขาลายแล้วแอ่วบ่ลายกะบ่ค่อง
คนบ่สักนกน้อยงอยแก้มกะบ่คืออ้ายเอย
หลวงพ่ออธิบายคำพูดนั้นว่าสักขาลายแต่ละข้างต้องมีรูปตัวมอมอยู่หนึ่งตัว ตัวมอมมีรูปคล้ายหัวคนถือว่าเป็นผู้อยู่ยงคงกระพันมาก และจะต้องสักสองขาให้มีมอมสองตัว ถ้าสักขาเดียวมีมอมตัวเดียวผู้สาวไม่ชอบไม่รัก และจะเตะส่ง เมื่อขาลายทั้งสองข้างแล้ว ถ้าเอวหรือบนเอวไม่ลายมันก็ไม่สมกันกับที่ขา และเมื่อเอวลายแล้ว ก็ต้องสักรูปนกน้อยลงที่แก้มตัวหนึ่งจึงจะโก้มากขึ้น (คำพูน  บุญทวี, 2556: 137-138)
   จากตอนข้างต้นแสดงให้เห็นว่าความเชื่อเรื่องการสักลายตามตัวมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีความเชื่อว่ายิ่งสักลายมากเท่าไหร่ผู้หญิงก็จะชอบมากเท่านั้น และเชื่อว่าผู้มีลายสักจะอยู่ยงคงกระพันธ์ ถ้าสังเกตดูคนแก่ที่เป็นผู้ชายในภาคอีสานก็จะพบว่าบางคนมีลายสักตามตัวอยู่มาก
ผญาอีสานสานรักหนุ่มสาว
   สวิง  บุญเจิม (2544:18) ให้ความหมายของผญาว่า ผญา คือ คำคล้องจองที่มีความไพเราะชวนพูดเพราะสั้นกะทัดรัดสัมผัสดี ชวนฟัง เพราะในผญาแต่ละบทมีความสมบูรณ์ครบถ้วน                        
   จากคำกล่าวของสวิง  บุญเจิม แสดงให้เห็นว่า ผญาเป็นคำคล้องจองและมีความไพเราะสัมผัสดี เราจะเห็นว่าการพูดผญานั้นถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวอีสานมากที่สุด โดยเฉพาะการพูดผญาเกี้ยวสาว
 คำกองเอ๋ย ความมักความฮักมากลุ้มคือสุ่มงุมกะทอ ความฮักมาพอคือกะทองุมไว้  คันอ้ายได้น้องสิพาล่องโขงไปเวียงจันทน์ เอาผ้าแพรไหมสีมันๆแลกงัวมาแก่ข้าว (คำพูน  บุญทวี, 2556: 45)
   จากคำผญาข้างต้นนั้นเป็นตอนที่ทิดจุ่นเกี้ยวเอื้อยคำกองซึ่งคำผญานั้นมีความหมายว่า ความรักมาสุมอกก็เปรียบเหมือนสุ่มครอบเข่งใส่เส้นยาสูบ ยิ่งรักมากๆขึ้นก็เหมือนเข่งยาสูบครอบหัวไว้จนมืดมนไปหมด ถ้าพี่ได้น้องเป็นเมียจะพาข้ามแม่น้ำโขงไปเวียงจันทน์ เพื่อเอาผ้าไหมไปแลกวัวมาเทียมเกวียนบรรทุกข้าว การพูดผญามักจะมีการพูดโต้ตอบกันสองฝ่าย ซึ่งคนสมัยก่อนนั้นจะสันทัดเรื่องการคิดคำมาพูดผญาได้เก่ง แต่ในปัจจุบันนี้แทบจะไม่มีคนรุ่นใหม่สืบสานผญาไว้ คำผญามีเสนห์และเป็นอัตลักษณ์ถิ่นของอีสานอย่างแท้จริงควรค่าแก่การคงอยู่เพื่อลูกหลานสืบไป
อาหารการกินถิ่นอีสานบ้านเฮา
   อาหารเป็นปัจจัยหลักของคนทุกคน แต่สำหรับชาวอีสานแล้วอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด เพราะในสมัยก่อนนั้นการกินอยู่ของคนอีสานค่อนข้างจะลำบากเพราะประสบปัญหาภัยแล้ง อาหารอีสานที่ถือได้ว่าเป็นอัตลักษณ์ถิ่นอีสานขนานแท้นั่นก็คือข้าวเหนียว
คูนควักข้าวเหนียวในกระติบที่สานด้วยไม้ไผ่ขึ้นมาและปั้นเป็นก้อนจิ้มลาบปลาร้า ด้วยความอร่อยอีกครั้ง (คำพูน  บุญทวี, 2556: 28)
   บทตอนข้างต้นเป็นตอนที่เด็กน้อยคูนควักข้าวเหนียวขึ้นมาปั้นจิ้มลาบปลาร้ากิน ถ้าสังเกตให้ดีวัฒนธรรมการกินของคนไทยทั้งสี่ภาค มีภาคอีสานภาคเดียวที่กินข้าวเหนียวเป็นอาการหลักและใช้มือจกกินแบบบ้านๆ ซึ่งถือว่าเป็นอัตลักษณ์ที่ยากจะมีใครเหมือน
   นอกจากข้าวเหนียวแล้ว อาหารอีสานที่นับว่าเป็นอัตลักษณ์ถิ่นที่โดดเด่นมากที่สุดนั่นก็คือปลาร้าในสมัยก่อนมักจะทำลาบปลาร้า ซึ่งในลูกอีสานได้อธิบายขั้นตอนการทำลาบปลาร้าไว้สำหรับผู้ที่สนใจก็ทำตามได้
  คูนสับปลาร้าในเขียงเบาๆตามแม่บอก พอปลาร้าละเอียดแม่จึงหยิบตะไคร้กับหัวข่าอ่อนที่ฝานไว้โรยลงไปให้คูนสับต่อ สักครู่แม่ก็หยิบหัวหอมแห้งกับพริกสดโรยลงไป พอคูนสับได้สิบนาทีแม่ก็บอกหยุด แล้วตักข้าวคั่วโรยลงไปอีก (คำพูน  บุญทวี, 2556: 27)
   วิธีการทำลาบปลาร้านั้นเป็นเมนูอาหารที่คนอีสานในสมัยโบราณมักทำกินกัน เพราะขั้นตอนการทำนั้นไม่ยุ่งยาก เพียงแค่สับปลาร้าและใส่เครื่องปรุงเหมือนกับทำลาบปกติ ซึ่งการทำปลาร้านั้นนับว่าเป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหารของชาวอีสานโดยแท้และเป็นอัตลักษณ์ถิ่นเฉพาะอีสาน ก็เหมือนกับการทำน้ำบูดูของภาคใต้ และการทำถั่วเน่าของภาคเหนือ ซึ่งในแต่ละถิ่นก็มีอัตลักษณ์แตกต่างกันออกไป
   หม่ำไข่ปลาก็เป็นอาหารอีสานอีกหนึ่งอย่างนับว่าเป็นการถนอมอาหารไว้กินเอง
 แม่ทำหม่ำไข่ปลา แม่ทำไม่ยากเลย และทำเหมือนกันกับส้มปลาน้อยที่แม่ทำมาแล้ว แม่เทไข่ปลาในใบตองใส่ถ้วยฝาละมี ซึ่งทำด้วยหินขนาดใหญ่เท่ากับจานใส่ข้าวแต่ก้นลึก ขยำไข่ปลาให้แตกจนทั่วถึงโรยข้าวคั่วและเกลือถึงสามช้อนลงไปแล้วขยำ อีกสักครู่แม่ก็ตำหัวหอมและกระเทียมแห้งลงในครกจน แหลก แล้วเทลงไปจึงขยำไข่ปลาอีกเสียงพลวกพราก สักครู่แม่ก็บิข้าวเหนียวนึ่งลงไปอีกสักครึ่งกล่องไม้ขีดไฟจึงขยำๆและซาวไปมา (คำพูน  บุญทวี, 2556: 198)
   การทำหม่ำไข่ปลาเป็นการถนอมอาหารไว้กินเองของชาวอีสาน จากเหตุการณ์ที่ครอบครัวของคูนและชาวบ้านส่วนหนึ่งออกเดินทางไปหาปลาที่แม่น้ำชี พอได้ปลามาก็นำไข่ปลามาทำหม่ำ ซึ่งเมื่อทำเสร็จแล้วทิ้งไว้ 7 วันก็สามารถรับประทานได้ รสเปรี้ยวของหม่ำนั้นมาจากข้าวเหนียวนึ่งที่แม่ของคูนใส่ลงไปด้วย
เครื่องมือเครื่องใช้หรือประดิษฐกรรมพื้นบ้านถิ่นอีสาน
   เครื่องมือเครื่องใช้หรือประดิษฐกรรมพื้นบ้านถิ่นอีสานนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะเป็นสิ่งที่คนอีสานใช้เป็นเครื่องมือในการดำรงชีพ ซึ่งสิ่งชาวบ้านจะผลิตเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้ได้เอง
   เอกวิทย์  ณ ถลาง (2544: 39-40) กล่าวว่า เครื่องมือเครื่องใช้หรือประดิษฐกรรมพื้นบ้านนานาชนิดไม่ว่าจะเพื่อทำไร่นา ล่าสัตว์ ปรุงอาหาร หรือใช้สอยในชีวิตประจำวันชาวบ้านจะผลิตเองเกือบทั้งสิ้นดังที่เคยเป็นมาแล้วแต่ครั้งโบราณ มีเพียงไม่กี่สิ่งกี่อย่างที่ต้องซื้อหา ชาวบ้านมีความรู้ ความสันทัดในการนำเอาสิ่งที่หาได้ใกล้ตัวจากธรรมชาติมาประดิษฐ์ตกแต่งดัดแปลงเป็นของใช้ เช่น เอากก ผือ ไผ่ มาทอสานเป็นเสื่อสาด กระบุง กระติบ กระด้ง ข้องปลา ตะกร้า ตะแกรง ลอบ ไซ แคร่
   จากบทความข้างต้นแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวอีสาน ชี้ให้เห็นว่าชาวอีสานมีความเป็นเลิศในการนำวัสดุธรรมชาติมารังสรรค์ให้เกิดสิ่งที่อำนวยประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต
   ตาข่ายดักนกขุ้มคูนเคยเห็นแม่สานจนเสร็จหลายอัน คือแม่จะดึงเส้นป่านแห้งเส้นเล็กๆออกทีละเส้น แล้วดึงดูจนแน่ใจว่าเหนียวดี จึงฟั่นให้เข้ากันถึงสองเส้นเป็นเส้นยาวๆ เมื่อได้สายป่านขดใหญ่อยู่ในกร้อไม้ แม่ก็จะสอยปลายเชือกป่านใส่ในปลายปฏักแล้วสานต่อเหมือนสานแห พอสานได้กว้างสักสองคืบ แม่ก็จะเอาให้พ่อสอดสายป่านไว้รอบๆตาข่ายอีกทีหนึ่ง แล้วผูกตาข่ายไว้กับคันคาข่ายที่ทำด้วยไม้ ไผ่เล็กๆเท่าดินสอดำ เสาตาข่ายนี้เมื่อปักลงดินมันจะเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวและทำให้ตาข่ายตึงพอดี ความกว้างของตาข่ายก็สักคืบกว่า (คำพูน  บุญทวี, 2556: 100)
   จากขั้นตอนการผลิตเครื่องมือสำหรับใช้จับนกขุ้ม ในคราวที่คูนกับพ่อจะออกไปจับนกขุ้มมาให้เฒ่าหมอยาใช้ต้มยานกขุ้มให้ย่าของคูนซึ่งป่วยอยู่ได้กิน แม่ของคูนจึงเป็นผู้ที่ทำเครื่องมือดักนกขุ้ม จะเห็นว่าอุปกรณ์การทำนั้นล้วนแล้วได้มาจากธรรมชาติ ไม่ต้องไปซื้อหา และขั้นตอนการทำก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถในด้านการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวอีสานได้เป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นอีสาน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็สามารถสร้างเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อดักจับสัตว์นำมาเป็นอาหารเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ได้
   เครื่องมือใช้จับสัตว์อีกอย่างหนึ่งของชาวอีสานที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือ หน้าไม้ดังตอนหนึ่งที่กล่าวว่า หน้าไม้ที่พ่อมีอยู่แล้วก็ทำด้วยไม้ประดู่ ส่วนสายของมันทำด้วยเชือกปอป่านคือ พ่อเอาใยป่านมาฟั่นกันเข้าใหญ่เกือบเท่านิ้วก้อยของคูน ยามพ่อจะขึ้นสายหน้าไม้ พ่อเอาปลายขาหน้าไม้ข้างหนึ่งปักลงดิน เอาตีนซ้ายยันขาอีกด้านหนึ่ง พร้อมกับดึงโน้มเข้าหาตัวพ่อให้ขามันโก่งเหมือนโครงว่าว (คำพูน  บุญทวี, 2556: 142)
   จากตอนหนึ่งในลูกอีสานเป็นตอนที่ครอบครัวของคูนกำลังเตรียมข้าวของอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อที่จะออกไปหาปลาที่แม่น้ำชี หน้าไม้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เพราะนอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือในการยิงนกและสัตว์ต่างๆแล้ว ยังเป็นอาวุธป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางได้อีกด้วย จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์การทำหน้าไม้ของพ่อคูนนั้นล้วนล้วนได้มาจากธรรมชาติทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นไม้ประดู่ หรือปอป่าน ชี้ให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของการทำเครื่องมือเครื่องใช้หรือประดิษฐกรรมอีสานที่ไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ เพราะว่าสามารถใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้
   เครื่องมือในการขุดปู ขุดหาสัตว์นั้นก็ถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของอีสานนั่นก็คือ เสียมซึ่งการทำเสียมนั้นต้องมีการตีเหล็กโดยผ่านกระบวนการต่างๆ
 พ่อใหญ่ลุยตีเสียมได้ว่องไวมาก ครู่ใหญ่ๆก็เป็นรูปเสียมขึ้นมาพอดีปลายเสียมแล้วให้เอาวางลงทางปลายทั้งที่มีรูปเหมือนหัวเต่า พอเสียมถูกวางลงแกก็ตีลงเป้งๆ เมื่อแกบอกพอ หลานชายแกก็ยกขึ้นมาดู ทำให้เห็นด้านนี้ของเสียมเป็นกระบอกกลมๆ “ทางนี้สำหรับใส่ด้ามเสียมมึงจำไว้พ่อใหญ่ลุยบอกคูนเมื่อคูนเห็นแกซุกเสียมเข้าไปในกองไฟอีก จึงถามว่าจะเผาอีกนานไหม แกก็บอกว่าพอมันแดงๆก็จะเอาออกมาจุ่มน้ำ แล้วจะเอาตะไบเข่นที่ปลายเสียมให้มันคมๆเท่านั้นก็ใช้ได้ (คำพูน บุญทวี, 2556: 147)
   การตีเหล็กทำเสียมมีมาตั้งแต่สมัยโบราณซึ่งทางอีสานแต่เก่าก่อนก็จะมีช่างตีเหล็กประจำหมู่บ้าน ถ้าใครเอามาให้ช่างตีให้ส่วนมากก็จะไม่คิดเงิน อย่างเช่นตอนที่ยกมาข้างต้นนี้เป็นตอนที่คูนและพ่อเอาเสียมมาตีกับพ่อใหญ่ลุย เพื่อจะเดินทางไปหาปลาที่แม่น้ำชี แกก็ไม่เอาเงินค่าตีเสียมด้วย แกบอกว่ากลับมาเอาส้มปลาขาวใหญ่ๆมาฝากแกก็แล้วกัน นั่นแสดงว่านอกจากแกไม่หวงวิธีการตีมีดตีเสียมให้พ่อกับคูนมาดูแกทำ แกก็ไม่รับเงินค่าจ้างแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใสใจจริงของคนอีสาน และคนอีสานก็มักจะถ่ายทอดวิธีผลิตเครื่องมือเครื่องใช้หรือประดิษฐกรรมต่างๆให้ลูกหลานถือว่าเป็นอัตลักษณ์ที่ดีงาม
   นอกจากนี้ยังมีการตีเหล็กไฟ
วิธีตีหินเหล็กไฟคูนเคยเอาของพ่อมาทำแล้ว คือเอามื้อซ้ายกุมก้อนหินติดปากกระบอกไม้ไผ่สั้นๆ ซึ่งมีนุ่นอัดอยู่ แล้วหยิบแท่งเหล็กยาวหนึ่งนิ้วชี้ต่อยหินก้อนนั้นสองสามที มันจะมีไฟกระเด็นออกมาไปติดนุ่นในกระบอก ถ้าจะให้ไฟดับก็เอาฝาปิดครอบลงไป หินเหล็กไฟหรือชุดไฟนี้เรียกชื่อว่า เหล็กไฟป๊กเพราะเวลาเอาเหล็กต่อยหินมันจะดังเสียงป๊กๆ เหล็กที่ใช้ตีหินจะทำจากอะไรก็ได้ แต่ ของพ่อคูนทำจากเหล็กตะไบที่ไม่ใช้แล้ว แต่ต้องเอาไปให้ช่างตีเหล็กเป็นแผ่นให้พ่อบอกว่าเหล็กนี้ตีหินมันจะเกิดประกายไฟดีกว่าอื่นๆ(คำพูน บุญทวี, 2556: 130)
   การทำหินเหล็กไฟในสมัยก่อนนั้นก็จะหาวัสดุที่ได้จากธรรมชาติทั้งหิน นุ่น กระบอกไม้ไผ่ ซึ่งคนอีสานจะทำกันเอง โดยไม่ต้องซื้อหาซึ่งต่อมาในปัจจุบันก็ไม่มีให้เห็นแล้ว ในยามจะจุดไฟหุงหาอาหารก็ใช้เหล็กป๊กทำให้เกิดประกายไฟ จึงก่อไฟขึ้นได้
คนอีสานอยู่ที่ไหนก็ไม่อดตาย
   กินเพื่ออยู่คนอีสานในสมัยก่อนจะเข้าใจความหมายของคำกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดีมากกว่าคำว่า อยู่เพื่อกินซึ่งคนยุคปัจจุบันจะเข้าใจคำหลังได้มากกว่า
   การกินเป็นอัตลักษณ์ถิ่นหนึ่งของคนอีสาน ขอกล่าวในที่นี้เลยว่า ในอดีตนั้นเรื่องการกินอยู่ของอีสานเป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนในปัจจุบันนี้ เพราะในสมัยก่อนอีสานต้องประสบปัญหาภัยแล้ง แผ่นดินแตกระแหง ต้นไม้ใบโกร๋น แต่คนเหล่านี้พวกเขาสามารถอยู่ได้เพราะรู้จักวิธีการเอาตัวรอด พึ่งพาอาศัยธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด
   พ่อก่อไฟ แล้วเอาเถาวัลย์ผูกคองูแขวนไว้บนกิ่งไม้ พ่อล้วงมีดออกมากรีดรอบๆคองูแล้วกรีดลงไปตาม ท้องของงูจนถึงโคนหาง พ่อดึงหนังงูเดี๋ยวเดียวก็หลุดออกมาเห็นตัวงูเป็นสีขาว พ่อสับงูออกเป็นท่อนๆ ใส่ในไม้ตับได้ถึงสามไม้ พ่อบอกว่าย่างไฟให้เกรียมๆจึงห่อไปบ้าน เพราะเลือดของมันจะไม่ เปรอะผ้าขาวม้า (คำพูน บุญทวี, 2556: 21)
   จากตอนที่พ่อของคูนฆ่าหนังและปิ้งนี้ แสดงให้เห็นว่าคนอีสานไม่รังเกียจที่จะกินงู สัตว์อะไรที่สามารถกินประทังชีวิตได้พวกเขาก็จะกินเพราะยังดีกว่าจะอดตาย ในอดีตคนอีสานก็ชอบกินงูโดยเฉพาะงูสิง มักจะทำเมนู ต้ม ปิ้ง หรือผัดเผ็ดก็ได้ ในปัจจุบันนี้คนก็ไม่นิยมกินงูกันแล้ว แต่ในอีสานยังมีคนที่กินงูอยู่จนถึงปัจจุบัน
   นอกจากงูแล้วยังมีอาหารอื่นๆอีกที่คนอีสานกินได้ดังตอนที่ว่า
  “เฮ้ย บักเสี่ยวทิดจุ่น กูได้ของกินแล้วทิดฮาดตะโกนลงมาสุดเสียง กูได้กับแก้สองโต ระวังบักคูนอย่าให้หมามึงคาบไปเน้อสิ้นเสียงทิดฮาดกับแก้สองตัวมีจุดสีขาวสลับแดงตามตัวก็หล่นตุ๊บลง คูนวิ่งไปถึงก่อนไอ้มอมกับไอ้แดง แล้วนั่งดูอยู่ใกล้ (คำพูน  บุญทวี, 2556: 124)
   จากที่กล่าวมาเป็นตอนที่ทิดจุ่นขึ้นไปเก็บมะพร้าวมาให้แม่คูนทำขนมเลี้ยงคนที่มาช่วยเปลี่ยนหลังคาบ้านที่บ้านของคูน ทิดฮาดก็ได้กับแก้หรือที่ภาษาไทยกลางเรียกว่าตุ๊กแก เอามาปรุงกิน ถือได้ว่าคนอีสานกินทุกอย่างที่หากินได้ นอกจากนี้ยังมีตัวบึ้ง ที่คนอีสานกิน ซึ่งในสมัยนี้คนรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จักเลยก็ว่าได้
   “นี่แหละมีบึ้งอยู่ ใยนี่ตัวบึ้งมันทำกันไม่ให้ตัวแมลงลงไปรบกวนมัน พ่อว่าเท่านั้นก็ขุดลงไปที่รูอย่างว่องไวพ่อขุดลงไปลึกสักศอกกว่าๆ ก็หยิบตัวบึ้งเท่ากล่องไม้ขีดไฟขึ้นมา โอ้โฮ แมลงมุมตัวใหญ่ๆจันดีร้องขึ้น คูนก็นึกว่าเป็นแมลงมุมตัวใหญ่ๆเหมือนกัน เพราะลักษณะของมันเหมือนแมลงมุมแต่มีสีดำมืดตลอดทั้งตัว (คำพูน  บุญทวี, 2556: 158)
   หลายคนแทบไม่คิดว่าตัวบึ้ง ซึ่งดูเหมือนแมงมุมยักษ์จะสามารถนำมาปรุงอาหารกินได้ แต่คนอีสานก็สร้างอัตลักษณ์ถิ่นขึ้นมา ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมอนใคร คือการกินสัตว์ที่ไม่มีใครคิดว่าจะกินได้ โดยการนำมาประกอบอาหาร 
   เมื่อเอื้อยคำกองเอาครกกับสากมาวางลง ทิดจุ่นก็หยิบบึ้งสองตัวที่ดิ้นกระดุกกระดิกอยู่ใส่ลงไปในครกจับสากตำลงไปเสียงบึกๆ สักครู่ก้นครกมีน้ำใสๆออกมาทำให้มีเสียงตำเสียงฉัวะๆน้ำที่ก้นบึ้งนี่แหละมันแซบแท้ๆทิดจุ่นว่าพลางตำลงไปจนแหลกละเอียดแล้วใส่เครื่องลาบเหมือนเครื่องลาบเนื้อ โรยลงไปแล้วเหยาะน้ำปลาร้าในกระปุกน้อยๆราดลงไปอีก แล้วแกก็ตำอีกเสียงฉัวะๆ กลิ่นหอมของข้าวคั่วโชย ขึ้นมาทำให้คูนกลืนน้ำลาย “นี่แหละลาบบึ้งมึงจำไว้ ทิดจุ่นบอกคูนและจันดี
   การทำลาบบึ้งก็ปรุงเหมือนลาบเนื้อปกติธรรมดาทั่วๆไป อาหารการกินที่กินได้คนอีสานไม่มีรังเกียจจึงทำให้คนอีสานจะไปอยู่ที่ไหนก็ไม่อดตาย เพราะพวกเขามีอัตลักษณ์ถิ่นนั่นก็คือหาอยู่หากินตามธรรมชาติอะไรที่กินได้ก็กินไป และเมนูแปลกๆแต่กินได้เหล่านี้ก็เป็นอาหารที่มีเฉพาะในอีสานเท่านั้น
   ในสังคมปัจจุบันเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าไปทุกๆวัน อัตลักษณ์เก่าๆก็มีแต่จะเลือนหายไป บางสิ่งบางอย่างที่มีในอดีตก็ถูกกลืนจากกระวัตถุนิยม แต่ถึงกระนั้นอัตลักษณ์ถิ่นของอีสานบางอย่างก็ยังมีมาถึงปัจจุบัน เพราะว่าคนอีสานมีความรักและหวงแหนสิ่งที่เป็นรากเหง้าของตน ตราบใดที่เสียงพิณเสียงแคนยังคงบรรเลงท่ามกลางกระแสดนตรีสากล อัตลักษณ์ของคนอีสานก็ยังคงอยู่ได้ในสังคมปัจจุบันเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าอัตลักษณ์เหล่านี้จะอยู่ได้นานเท่าใด แต่ก็เชื่อว่าจะอยู่ได้ตราบชั่วดินฟ้า ถ้าคนอีสานร่วมใจสืบสานอัตลักษณ์ถิ่นตน ให้อยู่คู่สังคม ดุจไม้เท้ายอดทอง คู่กระบองยอดเพชร
บรรณานุกรม

คำพูน  บุญทวี. (2556). ลูกอีสาน. กรุงเทพฯ: โป๊ยเซียน.
ธวัช  ปุณโณฑก. (2534). ความเชื่อพื้นบ้านอันสัมพันธ์กับวิถีชีวิตในสังคมอีสานในการสัมมนาทาง             วิชาการ เรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ครุสภา.
สวิง  บุญเจิม (2544). ปรัชญาเมธีอีสาน. อุบลราชธานี: มรดกอีสาน.
สุจิตต์  วงษ์เทศ. (2543). เบิ่งสังคมและวัฒนธรรมอีสาน. กรุงเทพฯ: มติชน.
เอกวิทย์  ณ ถลาง. (2544). ภูมิปัญญาอีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นท์ติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.